เมษายน 28, 2024
โทรศัพท์ : 034-411248 โทรสาร : 034-411185
%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%aa%e0%b8%b8%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b8%a3%e0%b8%a0%e0%b8%b9%e0%b9%88-%e0%b8%a7%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%95%e0%b9%88%e0%b8%ad%e0%b8%95%e0%b9%89%e0%b8%b2%e0%b8%99

ประวัติวันสุนทรภู่

“วันสุนทรภู่” เป็นอีกหนึ่งวันสำคัญของประเทศไทยที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อรำลึกถึง “สุนทรภู่” กวีเอกด้านวรรณกรรมไทย ผู้สร้างสรรคผลงานอันทรงคุณค่าตลอดชีวิตใน 4 รัชกาล จนได้รับการยกย่องว่าเป็น “กวีสี่แผ่นดิน” และยังได้รับการยกย่องจากยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็น บุคคลสำคัญด้านวรรณกรรมของโลก” อีกด้วย

สำหรับวันสุนทรภู่นั้น จะตรงกับ วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันเกิดของกวีสำคัญแห่งรัตนโกสินทร์คนนี้

ที่ตรงกับ วันจันทร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1148 เวลา 2 โมงเช้า หรือ วันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 เวลา 08.00 น.  ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1)

“สุนทรภู่” เป็นชื่อที่คนทั่วไปมักรู้จักคุ้นหู โดยนำคำว่า “สุนทร” จากบรรดาศักดิ์ที่ได้รับพระราชทานในรัชกาลที่ 2 และ 4 คือ “ขุนสุนทรโวหาร”, “หลวงสุนทรโวหาร” และ “พระสุนทรโวหาร” มารวมกับนามเดิม “ภู่”

สุนทรภู่ เกิดที่ริมคลองบางกอกน้อย ธนบุรี ใกล้บริเวณพระราชวังหลัง ซึ่งเป็นพระราชนิเวศน์ของเจ้าฟ้ากรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือ กรมพระราชวังหลังในรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (ปัจจุบันสถานที่บริเวณพระราชวังหลัง คือ บริเวณที่เป็นสถานีรถไฟบางกอกน้อย โรงพยาบาลศิริราช และบริเวณใกล้เคียง)

ในปีที่สุนทรภู่เกิด บิดาเดินทางไปบวชที่บ้านกร่ำ เมืองแกลง และบวชอยู่ตลอดชีวิต ทำให้ในวัยเยาว์ สุนทรภู่อยู่พระราชวังหลังกับมารดา ได้ศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทย และวิชาการต่าง ๆ ในสำนักพระภิกษุที่มีชื่อเสียง ที่วัดใกล้กับพระราชวังหลังตามที่มีหลักฐาน คือ วัดชีปะขาว หลังจากศึกษาเล่าเรียน จนมีวิชาความรู้เป็นอย่างดีแล้ว ในวัยหนุ่มสุนทรภู่ได้เป็นครูสอนหนังสือ หรือวิชาเสมียน ที่วัดชีปะขาว

แต่ด้วยใจรักด้านกาพย์กลอน จึงรับจ้างแต่งเพลงยาวและบทดอกสร้อยสักวาไปด้วย อาจเพราะลีลากลอนที่มีลักษณะเฉพาะตัวและคารมที่คมคาย ทำให้สุนทรภู่กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง จากนั้นจึงได้เข้ารับราชการเป็นอาลักษณ์ราชสำนักในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อสิ้นรัชกาลได้ออกบวชเป็นเวลาร่วม 20 ปี

ก่อนจะกลับเข้ารับราชการอีกครั้งในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเป็นอาลักษณ์ในสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเราศรังสรรค์ ในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น พระสุนทรโวหาร เจ้ากรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร ซึ่งเป็นตำแหน่งราชการสุดท้ายก่อนสิ้นชีวิต

ขอบคุณข้อมูลจาก :  https://www.pptvhd36.com/

ผลงานของสุนทรภู่

สุนทรภู่เป็นกวีที่มีความชำนาญทางด้านกลอน จนได้รับยกย่องเป็น เชกสเปียร์แห่งประเทศไทย เนื่องจากได้สร้างขนบการประพันธ์กลอนนิทานและกลอนนิราศขึ้นใหม่จนกลายเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางสืบเนื่องมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ผลงานที่มีชื่อเสียงของสุนทรภู่มีมากมายหลายเรื่อง เช่น นิราศภูเขาทอง นิราศสุพรรณ เพลงยาวถวายโอวาท กาพย์พระไชยสุริยา และพระอภัยมณี เป็นต้น

โดยเรื่อง “พระอภัยมณี” ได้รับยกย่องจากวรรณคดีสโมสรว่าเป็นยอดของวรรณคดีประเภทกลอนนิทาน และเป็นผลงานที่แสดงถึงทักษะ ความรู้ และทัศนะของสุนทรภู่อย่างมากที่สุด งานประพันธ์หลายชิ้นของสุนทรภู่ได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรการเรียนการสอนนับแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน เช่น กาพย์พระไชยสุริยา นิราศพระบาท และอีกหลาย ๆ เรื่อง

มากกว่านั้น วรรณกรรมชิ้นนี้ มีความยาวถึง 12,706 บท ถือได้ว่าเป็นกวีนิพนธ์ที่ยาวที่สุดในโลก ในขณะที่บทประพันธ์เรื่อง “อีเลียต” และ “โอเดดซี” ของฝรั่งที่ว่ายาวที่สุด ยังมีเพียง 12,500 บทเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้ในปี พ.ศ. 2529 ในโอกาสครบรอบ 200 ปีชาตกาล ท่านจึงได้รับยกย่องจากยูเนสโกให้เป็น บุคคลผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรมระดับโลก อีกด้วย

ผลงานของสุนทรภู่ยังเป็นที่นิยมในสังคมไทยอย่างต่อเนื่องตลอดมาไม่ขาดสาย และมีการนำไปดัดแปลงเป็นสื่อต่าง ๆ เช่น หนังสือการ์ตูน ภาพยนตร์ เพลง รวมถึงละคร มีการก่อสร้างอนุสาวรีย์สุนทรภู่ไว้ที่ตำบลกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง บ้านเกิดของบิดาสุนทรภู่ และเป็นที่กำเนิดผลงานนิราศเรื่องแรกของท่าน คือ นิราศเมืองแกลง นอกจากนี้ยังมีอนุสาวรีย์แห่งอื่น ๆ อีก เช่น ที่วัดศรีสุดาราม ที่จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดนครปฐม

ประวัติวันต่อต้านยาเสพติดโลก

ประวัติวันยาเสพติดโลก “International Day against Drug Abuse and Illicit Trafficking” หรือ “World Drug Day” ที่มาของวันต่อต้านยาเสพติด เกิดจากปัญหาการใช้ยาเสพติดทั่วโลกมักส่งผลต่อสุขภาพ และชีวิต ของประชากร ทำให้เรื่องนี้ถูกนำเข้าที่ประชุมสหประชาชาติในปี พ.ศ. 2530 จัดขึ้นที่กรุงเวียนนาในระหว่าง วันที่ 17-26 มิถุนายน พ.ศ. 2530 การประชุมครั้งนี้ว่าด้วยเรื่องการใช้ยาในทางที่ผิด และการลักลอบใช้ยาเสพติด และประเทศต่างๆ ที่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก ก็ร่วมกันจัดกิจกรรม รณรงค์และต่อต้านยาเสพติดทั้งหน่วยงาน รัฐ เอกชน และภาคประชาชน

เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ปัญหายาเสพติด เป็นปัญหาสำคัญที่ก่อภัยมหันต์ต่อมนุษยชาติทั่วโลก เพราะไม่เพียงแต่ยังบั่นทอนสุขภาพเท่านั้น แต่มันยังทำลายสติสัมปชัญญะ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีที่มนุษย์พึงมีออกไปเสียด้วย…ทุกประเทศทั่วโลกต่างพยายามร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว “สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ” จึงได้มีมติกำหนดให้ วันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี เป็น “วันต่อต้านยาเสพติดโลก

สำหรับประเทศไทยเอง ก็เป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกองค์การสหประชาชาติ ที่ได้แสดงเจตนารมณ์ในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดร่วมกับประเทศสมาชิกอื่นๆ ทั่วโลก ด้วยการจัดกิจกรรมเนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดเป็นประจำเสมอมา เพื่อเป็นการย้ำเตือนให้ประชาชนไทยเกิดความตระหนักถึงปัญหายาเสพติด และทุกคนควรมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาช้านาน จนกระทั่งใน พ.ศ. 2501 คณะปฏิวัติภายใต้การนำของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ออกประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 37 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2501 ให้เลิกการสูบฝิ่นทั่วราชอาณาจักร โดยมีการเผาทำลายฝิ่นและอุปกรณ์การสูบฝิ่นที่ท้องสนามหลวง ในคืนวันที่ 30 มิถุนายน 2502 หลังจากนั้นปี พ.ศ. 2504 รัฐบาลได้จัดตั้ง “คณะกรรมการปราบปรามยาเสพติดให้โทษ” ใช้ชื่อย่อว่า ปปส. สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีโดยมีอธิบดีกรมตำรวจเป็นประธาน และมีผู้แทนจากทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ

ต่อมาในสมัยนายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรีรัฐบาลได้เล็งเห็นว่า การปราบปรามยาเสพติดไม่สามารถแก้ไขได้โดยการดำเนินการเฉพาะกรมตำรวจฝ่ายเดียว จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 ต่อสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน และประกาศใช้เป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2519 พระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือเรียกชื่อย่อว่า ป.ป.ส. โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และจัดตั้งสำนักงาน ป.ป.ส. ขึ้นเป็นหน่วยงานกลางรับผิดชอบโดยตรง มีฐานะเป็นกรม กรมหนึ่งในสำนักนายกรัฐมนตรี ปัจจุบันสำนักกระทรวงยุติธรรม ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ต่อมา สำนักงาน ป.ป.ส. ได้นำมติเรื่องวันต่อต้านยาเสพติดขององค์การสหประชาชาติเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2531 ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กำหนดวันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันต่อต้านยาเสพติดโดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 เป็นต้นมา

ขอบคุณข้อมูลจาก :  https://www.sanook.com/