วันอัฏฐมีบูชา 11 มิถุนายน 2566
วันสำคัญวันอัฏฐมีบูชา คือ วันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (หลังเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ 8 วัน) ถือเป็นวันสำคัญในพระพุทธศาสนาวันหนึ่ง ตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือนวิสาขะ (เดือน 6 ของไทย)
ความสำคัญ
เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จปรินิพพานไปแล้ว 7 วัน มัลละกษัตริย์แห่งเมืองกุสินารา พร้อมด้วยประชาชน และพระสงฆ์อันมีพระมหากัสสปเถระเป็นประธาน ได้พร้อมกันกระทำการถวายพระเพลิงพุทธสรีระ ณ มกุฏพันธนเจดีย์ แห่งเมืองกุสินารา เมื่อวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 ซึ่งนิยมเรียกกันว่าวันอัฏฐมีนั้น เวียนมาบรรจบแต่ละปี พุทธศาสนิกชนบางส่วนได้ประกอบพิธีบูชาขึ้น มีการเวียนเทียนเป็นต้น แต่ไม่ทั่วไปทั่วราชอาณาจักร โดยจะประกอบพิธีในบางวัดเท่านั้น ตามแต่ความศรัทธาของท้องถิ่น
ประวัติพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพในพุทธประวัติ
พิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพมีขึ้นในวันที่ 8 หลังจากพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จปรินิพพานใต้ต้นสาละในราตรี 15 ค่ำ เดือน 6 โดยพวกเจ้ามัลลกษัตริย์จัดบูชาด้วยของหอม ดอกไม้ และเครื่องดนตรีทุกชนิด ที่มีอยู่ใน เมืองกุสินาราตลอด 7 วัน แล้วให้เจ้ามัลละระดับหัวหน้า 8 คน สรงเกล้า นุ่งห่มผ้าใหม่ อัญเชิญพระสรีระไปทางทิศตะวันออกของพระนครเพื่อถวายพระเพลิง
พวกเจ้ามัลละถามถึงวิธีปฏิบัติพระสรีระกับพระอานนท์เถระ แล้วทำตามคำของพระเถระนั้นคือ ห่อพระสรีระด้วยผ้าใหม่แล้วซับด้วยสำลี แล้วใช้ผ้าใหม่ห่อทับอีก ทำเช่นนี้จนหมดผ้า 500 คู่ แล้วเชิญลงในรางเหล็กที่เติมด้วยน้ำมัน แล้วทำจิตกาธานด้วยดอกไม้จันทน์ และของหอมทุกชนิด จากนั้นอัญเชิญ พวกเจ้ามัลละระดับหัวหน้า 4 คน สระสรงเกล้า และนุ่งห่มผ้าใหม่ พยายามจุดไฟที่เชิงตะกอน แต่ก็ไม่อาจให้ไฟติดได้ จึงสอบถามสาเหตุ พระอนุรุทธะ พระเถระ แจ้งว่า “เพราะเทวดามีความประสงค์ให้รอพระมหากัสสปะ และภิกษุหมู่ใหญ่ 500 รูป ผู้กำลังเดินทางมาเพื่อถวายบังคมพระบาทเสียก่อน ไฟก็จะลุกไหม้” ก็เทวดา เหล่านั้น เคยเป็นโยมอุปัฏฐากของพระเถระ และพระสาวกผู้ใหญ่มาก่อน จึงไม่ยินดีที่ไม่เห็นพระมหากัสสปะอยู่ในพิธี และเมื่อภิกษุหมู่ 500 รูปโดยมีพระมหากัสสปะเป็นประธานเดินทางมาพร้อมกัน ณ ที่ถวายพระเพลิงแล้ว ไฟจึงลุกโชนขึ้นเองโดยไม่ต้องมีใครจุด
หลังจากที่พระเพลิงเผาซึ่งเผาไหม้พระพุทธสรีระดับมอดลงแล้ว บรรดากษัตริย์มัลละทั้งหลายจึงได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมด ใส่ลงในหีบทองแล้วนำไปรักษาไว้ภายในนครกุสินารา ส่วนเครื่องบริขารต่างๆ ของพระพุทธเจ้าได้มีการอัญเชิญไปประดิษฐานตามที่ต่างๆ อาทิ ผ้าไตรจีวร อัญเชิญไปประดิษฐานที่แคว้นคันธาระ บาตรอัญเชิญไปประดิษฐานที่เมืองปาตลีบุตร เป็นต้น และเมื่อบรรดากษัตริย์จากแคว้นต่างๆ ได้ทราบว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพานที่นครกุสินารา จึงได้ส่งตัวแทนไปขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ เพื่อนำกลับมาสักการะยังแคว้นของตนแต่ก็ถูกกษัตริย์มัลละปฏิเสธ จึงทำให้ทั้งสองฝ่ายขัดแย้งและเตรียมทำสงครามกัน แต่ในสุดเหตุการณ์ก็มิได้บานปลาย เนื่องจากโทณพราหมณ์ได้เข้ามาเป็นตัวกลางเจรจาไกล่เกลี่ย เพื่อยุติความขัดแย้งโดยเสนอให้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น 8 ส่วนเท่าๆ กัน ซึ่งกษัตริย์แต่ละเมืองทรงสร้างเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตามเมืองต่างๆ ดังนี้
กษัตริย์ลิจฉวี ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองเวสาลี
กษัตริย์ศากยะ ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองกบิลพัสดุ์
กษัตริย์ถูลิยะ ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองอัลลกัปปะ
กษัตริย์โกลิยะ ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองรามคาม
มหาพราหมณ์ สร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองเวฏฐทีปกะ
กษัตริย์มัลละแห่งเมืองปาวา ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองปาวา
พระเจ้าอชาตศัตรู ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองราชคฤห์
มัลลกษัตริย์แห่งกุสินารา ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ที่เมืองกุสินารา
กษัตริย์เมืองโมริยะ ทรงสร้างสถูปบรรจุพระอังคาร (อังคารสถูป) ที่เมืองปิปผลิวัน
โทณพราหมณ์ สร้างสถูปบรรจุทะนานตวงพระบรมสารีริกธาตุ ที่เมืองกุสินารา (ทะนานตวงพระบรมสารีริกธาตุแจก, คำว่า ตุมพะ แปลว่า ทะนาน, บางทีเรียกสถูปนี้ว่า ตุมพสถูป)
สำหรับกรณีของกษัตริย์เมืองโมริยะนั้น ได้ส่งผู้แทนมาหลังจากที่โทณพราหมณ์แบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้ทั้ง 8 เมืองไปแล้วจึงได้อัญเชิญพระอังคารไปแทน ส่วนโทณพราหมณ์ ก็ได้สร้างสถูปบรรจุทะนานที่ใช้สำหรับตวงพระบรมสารีริกธาตุสำหรับตนเอง และผู้คนได้สักการะดังที่ได้กล่าวไป
ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.rama.mahidol.ac.th/
Post Views: 278